วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การผลิตแบบเลี้ยงตัวเอง

ทฤษฎีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง
กับการปรับตัวของชาวบ้านในด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

โดย ผศ.ชูสิทธิ์ ชูชาติ
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน

การผลิตแบบเลี้ยงตัวเองพื้นฐานการผลิตแบบพอเพียง

นักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้ศึกษาเรื่อง การผลิตแบบเลี้ยงตัวเอง (Self – Sufficiency Economy) ในระบบศักดินา แล้วสรุปว่า การผลิตแบบเลี้ยงตัวเอง เป็นลักษณะการผลิตเพื่อส่งส่วย ภาษี ค่าเช่า แลกเปลี่ยนกับสินค้าที่หายาก และผลผลิตที่เหลือเก็บไว้บริโภค
ลักษณะการผลิตดังกล่าวแล้วผู้ผลิต คือ ทาส ไพร่ หรือชาวนา (Peasants) ไม่ใช่เสรีชน (Freeman) ขาดระบบกรรมสิทธิ์ (Private Property) และเป็นการผลิตในระบบการผูกขาด (Royal Monopoly) มิใช่การแข่งขันอย่างเสรี (Free Competition)

ดังนั้น ระบบการผลิตแบบเลี้ยงตัวเอง ในระบบศักดินา ถึงแม้ว่ามีปรัชญาในการผลิต ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม แต่ก็มีลักษณะของปรัชญาที่แตกต่างกัน จะคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง ก็คือ มีวัตถุประสงค์ในการผลิต เพื่อใช้เอง (ถ้า เหลือจากภาษี ค่าเช่า และส่วย) และใน 1 ครัวเรือนผลิตทั้งด้านการเกษตรและหัตถกรรม กล่าวคือ ผลิตหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน ดังนั้น การพึ่งพาจากสังคมภายนอกก็มีน้อย จำกัดเฉพาะสิ่งของหายาก เช่น เกลือ เครื่องเทศ ฯลฯ หรือ ของประดับที่มีค่า
สำหรับสังคมชาวนา (Peasantry) ในชนบทของประเทศไทย การผลิตแบบเลี้ยงตัวเองเพิ่งสูญสลายใน ทศวรรษที่ 1960 หรือบางหมู่บ้านอาจหลงเหลือ ถึงทศวรรษที่ 1970 และเป็นการผลิตแบบเลี้ยงตัวเอง ซึ่งชาวนาเป็นเสรีชน มีระบบกรรมสิทธิ์ และการแข่งขันอย่างเสรี

ดังนั้น การโยงใยแนวความคิดในการผลิตแบบเดิมของสังคมชาวนาไทย ให้ผสมผสาน (Assimilation) และกลมกลืนให้เข้ากับ “ทฤษฎีใหม่” จึงมีพื้นฐานจากอดีตของสังคมชาวนารองรับ จึงง่ายแก่การเข้าใจและการปรับใช้

ศาสตราจารย์ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้อธิบาย ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง หรือ “ทฤษฎีใหม่” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สรุปได้ดังนี้

“ทฤษฎีใหม่” ในแนวปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง มีมิติที่หลากหลาย โดยเฉพาะด้านจริยธรรมในการอยู่ร่วมกันของสิ่งที่แตกต่างหลากหลาย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ตรงกันข้าม ขัดแย้ง แข่งขันเอาแพ้ – เอาชนะ ครอบงำซึ่งกันและกัน หากเอื้อต่อกันและเกิดดุลยภาพที่เคลื่อนไหวได้ (Dynamic Balance) โดยการพึ่งพิงอิงกัน

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช ได้สรุปความคิดรวบยอดของ ทฤษฎีใหม่ไว้ 9 ประการ ดังนี้

1. ความหลากหลาย (Multiple, Diverse) หมายความว่า ทฤษฎีใหม่ มิใช่ลักษณะ เอกนิสัย (Singularity) หรือ ทวินิยม (Binary) แต่พระราชดำริ ทฤษฎีใหม่เป็นพหุนิยม (Plurality, Multiple) ทั้งแง่คิด (Thinking) และการกระทำ (Doing) ที่หลากหลาย (Diversity) ซับซ้อน (Complexity) และพึ่งพิงอิงกัน (Interdependence)

2. ร่วมนำ (Co-existing) สรรพสิ่งซึ่งแตกต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้ และมีการพึ่งพิงอิงกันไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน เช่น การเกษตรแบบพึ่งตัวเอง สามารถอยู่ร่วมกันได้ กับเกษตรอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรมบริการ

3. ทฤษฎีที่ปฏิบัติได้ ภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติต้องประสานเป็นเนื้อเดียวกัน คือ นำทฤษฎีไปปฏิบัติได้ และเกิดผลประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง (Stakeholders) อย่างทั่วถึง

4. ทฤษฎีมีความเข้าใจง่าย คนทุกคนสามารถศึกษาแล้วเข้าใจ นำไปปฏิบัติได้

5. ทฤษฎีที่เกิดจากพื้นฐานวัฒนธรรมไทย และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับชีวิตคน

6. ทฤษฎีที่สมสมัยและได้จังหวะเวลาเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ

7. ทฤษฎีที่แฝงไว้ซึ่งปรัชญาในการดำรงชีวิตและดำรงชาติ ในทฤษฎีมีหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การดำรงชีวิตและการส่งเสริมเชิงจริยธรรม (Ethics) แห่งความพอและความพอเพียง (Enough and Subsistence)

8. ทฤษฎีที่ทำให้คนมีความสุขตามอัตภาพ และเข้าใจหลักของสันโดษ

9. ทฤษฎีที่ปลอดจากการเมือง ผลประโยชน์และอุดมการณ์ (Ideology)

ทฤษฎีใหม่มีแนวความคิดเกิดจากการแก้ปัญหาความยากจนของชาวนา อันเนื่องมาจากปัญหา การเกษตร และการดำรงชีวิต พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ได้ทรงพบเห็นด้วยพระองค์เอง จากการเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎร์ในชนบทของประเทศไทย ทุกภูมิภาค ตั้งแต่ ค.ศ.1950 ถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงคิดหารูปแบบและวิธีการในการแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว ดังพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2537 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา


“หลักมีว่าแบ่งที่ดินเป็นสามส่วน
ส่วนที่หนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว
อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน
และที่มีที่สำหรับขุดสระน้ำ”


นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานหลักการสำคัญในการดำเนินการตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยมีสาระสำคัญ คือ

1. สามารถใช้ได้กับเกษตรกรที่มีที่ดินจำนวนน้อย ประมาณ 10 – 15 ไร่ หรืออาจเพิ่มลดกว่านี้

2. พื้นที่นั้นต้องเพาะปลูกพืชผัก ไม้ผล ต้นไม้หลาย ๆ ชนิด ที่สำคัญต้องปลูกข้าว และบ่อน้ำหรือสระน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตรอย่างพอเพียง

3. เกษตรมีความพอกิน พออยู่ เลี้ยงตัวเองได้ (Self – Sufficiency) ในระดับชีวิตที่ประหยัดก่อน โดยมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของความสามัคคีในท้องถิ่น (เอกสารสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)

นอกจากนี้ พระองค์ได้พระราชดำรัส เมื่อ วันที่ 4 ธันวาคม 2538 ดังนี้


“...ทฤษฎีใหม่นี้ มีไว้สำหรับป้องกันความขาดแคลน
ในยามปกติก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น
ในยามที่มีอุทกภัย ก็สามารถที่จะฟื้นตัวได้เร็ว
โดยไม่ต้องให้ทางราชการไปช่วยมากเกินไป
ทำให้ประชาชนมีโอกาสพึ่งตนเองได้อย่างดี…”


มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ (2535 : 78 – 80) ได้อธิบายสาระสำคัญของทฤษฎีใหม่ ซึ่งนำไปใช้กับการเกษตรไว้ดังนี้



จากหลักการของทฤษฎีใหม่ สามารถเขียนแผนภาพเพื่อเป็นแนวทางของทฤษฎีใหม่ได้ดังนี้

อย่างไรก็ตามขั้นตอนของเกษตรกรรมทฤษฎีใหม่มิใช่มุ่งแต่เพียง “พออยู่ พอกิน” เท่านั้น แต่ทฤษฎีนี้ก็มิได้ปฏิเสธระบบการตลาด เพื่อขยายผลผลิตจากชุมชนสู่ภูมิภาคอื่น ดังนั้น ขั้นตอนของทฤษฎีใหม่จากพระราชดำรัส จึงสรุปได้ 3 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 การผลิตให้พึ่งตนเองได้ ให้พอมีพอกิน

ขั้นที่ 2 เกษตรรวมพลังกันเป็นกลุ่ม หรือสหกรณ์ร่วมแรงใน

  • การผลิต
  • การตลาด
  • การเป็นอยู่
  • สวัสดิการ
  • การศึกษา
  • สังคมและศาสนา

เพื่อให้ พอมีกิน มีใช้ ช่วยให้ชุมชนและสังคมดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ไม่รวยคนเดียว

ขั้นที่ 3 ร่วมกับแหล่งเงินและแหล่งพลังงาน จัดตั้งและบริการ โรงสี ร้านสหกรณ์ ช่วยกันลงทุน ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท มิใช่ทำอาชีพเกษตรอย่างเดียว

การปรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เข้ากับทฤษฎีใหม่

ในปี พ.ศ.2493 (ค.ศ.1950) มีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เดินทางท่องเที่ยว จำนวน 25 ล้านคน และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 546 ล้านคน (พ.ศ.2538, ค.ศ.1995) 692 ล้านคน (พ.ศ.2543, ค.ศ.2000) และจะเพิ่มเป็นจำนวน 1,047 ล้านคน (พ.ศ.2553, ค.ศ.2010) และ 1,602 ล้านคน (พ.ศ.2563, ค.ศ.2020)

สำหรับประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 18 (ญี่ปุ่น ไม่ติดอันดับ 1 – 20 ของโลก) ปริมาณนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ จากจำนวน 81,340 คน (พ.ศ.2503, ค.ศ.1960) เพิ่มเป็น 1,858,801 คน (พ.ศ.2523, ค.ศ.1980) จำนวน 9,508,623 คน (พ.ศ.2543, ค.ศ.2000) และวางเป้าหมายไว้จำนวน 20.08 ล้านคน ในปี พ.ศ.2551 (ค.ศ.2008)

การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศในอัตราทวีคูณดังกล่าวแล้ว ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ การท่องเที่ยวจากเมืองออกสู่ชนบท

พื้นที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยที่สำคัญ เช่น กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ กาญจนบุรี และเมืองบริวาร ได้ถูกบุกรุกจากนายทุนข้ามชาติ และนายทุนในประเทศ เพื่อประกอบธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจข้ามชาติ พื้นที่ชายทะเลเกาะสมุย เกาะช้าง เมืองพัทยา เกาะภูเก็ต และหมู่เกาะใกล้เคียงพื้นที่บริเวณเชิงเขาและที่ราบใกล้แม่น้ำของ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย ได้ถูกนายทุน บุกรุก กว้านซื้อจากชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านซึ่งประกอบธุรกิจการเกษตร การประมง เพื่อเลี้ยงตัวเอง ต้องสูญเสียปัจจัยการผลิต แล้วเริ่มต้นบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติใหม่ หรือไม่ก็เปลี่ยนสถานภาพเป็น “ลูกจ้าง ขายแรงงาน”

ชาวบ้านบางหมู่บ้าน เช่น ชาวประมงเกาะสมุยเมื่อนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (ฝรั่ง) เริ่มเข้ามาในทศวรรษที่ 1970 ชาวประมงหาดละไม หาดเฉวง หาดบ่อผุด เริ่มสร้างกระท่อมให้นักท่องเที่ยวเช่าคืนละ 50 – 100 บาท ชาวประมงยังประกอบอาชีพเดิมและการท่องเที่ยวผสมผสานกันไปอย่างกลมกลืนแต่หลังจากการท่องเที่ยวที่เกาะสมุยพัฒนาขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ.2523 (ค.ศ.1980) เป็นต้นไป ชาวประมงและชาวสวนมะพร้าวบางส่วน ปรับตัวไม่ได้ ต้องขายที่ดินให้กับนายทุนเพื่อสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ ในด้านการท่องเที่ยว และนำเงินจากการขายที่ดิน ซื้อพื้นที่ดินในจังหวัดชุมพร เพื่อทำสวนผลไม้ แต่บางคนก็ปรับตัวให้เข้ากับธุรกิจการท่องเที่ยวที่ขยายตัวขึ้นอย่างกลมกลืน โดยไม่ขายพื้นที่การเกษตร

ในปัจจุบันนักท่องเที่ยว “ฝรั่ง” และชาวญี่ปุ่นหนุ่มสาว เริ่มหลีกหนีความวุ่นวาย และการท่องเที่ยวแบบ “ปราศจากธรรมชาติและวัฒนธรรมเก่า” เข้าสู่เกาะพงัน และเกาะเต่า ชาวประมงในเกาะดังกล่าวแล้ว ก็ต้องปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแบบมวลชน ซึ่งมีทั้งความกลมกลืน (Harmony) และความขัดแย้ง (Conflict)

ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เดินทางเข้าสู่ชนบท ในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบผจญภัย หรือ การท่องเที่ยวแบบเดินป่า ตั้งแต่ พ.ศ.2511 (ค.ศ.1968) ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ดอยปุย แล้วขยายสู่แม่แตง เชียวดาว แม่อาย ล่องลำน้ำก๊กสู่จังหวัดเชียงราย

ธุรกิจการท่องเที่ยวแบบมวลชน ค่อนข้างขูดรีด (Exploitation) ชาวบ้าน จากงานวิจัยของ ชูสิทธิ์ ชูชาติ พบว่า พื้นที่เส้นทางเดินป่าและล่องแพ 1 เส้นทาง ในเขตลำน้ำแม่แตง จากบ้านป่าข้าวหลาม ถึงบ้านสบก๋าย มีนักท่องเที่ยว ปีละ 530,000 คน มีรายได้ปีละ 234,790,000 บาท ใช้ไม้ไผ่ทำแพปีละ 87,600 ลำ สัดส่วนของรายได้ตกกับชาวบ้าน คิดเป็นร้อยละ 22.70 ตกอยู่กับภาคธุรกิจในเมืองเชียงใหม่ ร้อยละ 72.30 ชาวบ้านได้ค่าเช่าที่พักคืนละ 20 – 30 บาทต่อคน ค่าถ่อแพวันละ 200 – 300 บาท นอกจากนั้นก็เกือบจะไม่มีรายได้อะไร เพราะยานพาหนะ อาหารซื้อจากในเมืองเชียงใหม่

ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากรัฐบาลได้เริ่มบูรณะถนนปาย-แม่มาลัย (เชื่อมจังหวัด แม่ฮ่องสอน – เชียงใหม่) ใน พ.ศ.2522 (ค.ศ.1979) ถนนสายนี้ญี่ปุ่นสร้างผ่านป่าและภูเขา เพื่อนำกองทัพเข้าสู่พม่า ใน พ.ศ.2485 (ค.ศ.1942) หลังจากบูรณะจนกระทั่งรถยนต์โดยสารขนาดเล็กแล่นได้ในฤดูแล้ง นักท่องเที่ยว “ฝรั่ง” ก็ได้เดินทางเข้าสู่หมู่บ้านต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง ละฮูร์ ลีซู ม้ง ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน

ในปัจจุบัน เขตชุมชนอำเภอปาย เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ ของ “ฝรั่ง” กลุ่มเดินป่าและชอบผจญภัย นอกจากนี้ก็มีชาวญี่ปุ่นรุ่นหนุ่มสาวบ้าง

การปรับตัวของชาวบ้านกับนักท่องเที่ยวผสมผสานกันได้ ค่อนข้างกลมกลืน เมืองปายเป็นแหล่งธุรกิจท่องเที่ยว ขนาดเล็กมีเรือนแรม (Guest House) จำนวน 44 หลัง ห้องพัก 450 ห้อง ราคาห้องพัก คืนละ 60 – 500 บาท ชาวบ้านแบ่งบ้านพักให้นักท่องเที่ยวเช่าพักตั้งแต่ 5 – 10 หลัง หรือสร้างโรงแรมขนาดเล็ก ตั้งแต่ 10 – 20 ห้อง นอกจากนี้ชาวบ้านยังขายของที่ระลึก อาหาร และจัดนำเที่ยว

ธุรกิจการท่องเที่ยวขนาดเล็กของชาวบ้านในเขตอำเภอปาย มีรายได้จากค่าเช่าที่พัก อาหาร และการจัดนำเที่ยวเดือนละ 12,000 – 20,000 บาทต่อเดือน ใกล้เคียงกับรายได้ประเภทเรือนแรม ของจังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า ชาวบ้านในเขตเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะภูเก็ต เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน มีรายได้จากการท่องเที่ยว ควบคู่กับการเกษตรและการประมงแต่ก็มีชาวบ้านส่วนหนึ่ง ขายที่ดินซึ่งสามารถประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ควบคู่กับธุรกิจแบบเดิมให้แก่นายทุน จนกระทั่งทำให้ทุนขนาดใหญ่ กลืนกิน ทุนขนาดเล็ก

ทางออกอย่างหนึ่ง คือ การนำทฤษฎีใหม่และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เผยแพร่แก่ชาวบ้าน ให้สร้างเกาะป้องกัน “ระบบทุนนิยมผูกขาด” (Monopoly Capitalism)

รูปแบบการปรับใช้ทฤษฎีใหม่


ทฤษฎีใหม่ ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน คือ บ้าน (10%) สระน้ำ (30%) นา (30%) สวน (30%) แต่บางพื้นที่จัดการเช่นนี้ไม่ได้ เช่นเขตพื้นที่เชิงเขา หรือชายทะเล ก็จัดการด้วยระบบการเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีการเพาะปลูกพืช การประมง การเลี้ยงสัตว์ หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน ชาวเกาะสมุย ไม่มีพื้นที่ราบสำหรับการทำนาก็สามารถทำการประมง ทำสวนมะพร้าวและผลไม้อื่น ๆ เลี้ยงสัตว์ และจัดธุรกิจการท่องเที่ยวขนาดเล็กร่วมด้วย

ชาวบ้านในเขตภูเขาจังหวัดเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน ก็สามารถ ทำการประมงน้ำจืดในหมู่บ้าน (ดูตัวอย่างบ้านโป่งสมิ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่) เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ ทำนา ทำสวนผลไม้ และการท่องเที่ยว ประกอบด้วย แทนที่จะขายที่ดินให้แก่นายทุน

ตัวอย่างของนางคะบือ ติลู บ้านป่าข้าวหลาม นายประสิทธิ์ อินต๊ะ บ้านเมืองกื๊ด นายคำ ขอดเรือนแก้ว บ้านสบก๋าย จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านในเขตเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลายคนก็ประกอบอาชีพการประมง การทำสวน ควบคู่กับการท่องเที่ยว

ธุรกิจการท่องเที่ยวที่ชาวบ้านควรทำควบคู่กับธุรกิจในรูปแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่หรือการเกษตรแบบผสมผสาน ได้แก่

ธุรกิจเรือนแรม (Guest House) ที่สร้างเรือนแรมให้กลมกลืนกับธรรมชาติ และวัฒนธรรม (Ecology)
ธุรกิจการนำเที่ยว ในฟาร์มหรือพื้นที่การเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง
การผลิตของที่ระลึกจากผลผลิต ในพื้นที่การเกษตรทฤษฎีใหม่
การจำหน่ายผลผลิตจากสมุนไพร
การจัดธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่มสมุนไพร
การจัดการแสดงทางด้านวัฒนธรรม

ฯลฯ

การปรับธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เข้าสู่พื้นที่การเกษตรทฤษฎีใหม่ อาจจัดรูปแบบแผนผังได้ดังนี้

รูปภาพ

พืชล้มลุก และผัก เช่น มะเขือ พริก กระเพรา โหระพา แมงลัก สาระแหน่ ถั่วฝักยาว ผักกาด คะน้า ผักชี ผักบุ้ง ฯลฯ ควรปลูกด้านทิศตะวันออก เพราะต้องการแสงแดดต่อวันหลายชั่วโมง และอยู่ห่างไกลไม้ยืนต้น

ไม้ดอก และสมุนไพร ไว้ใกล้ Ecolodge ทางทิศตะวันออก สระน้ำ นาข้าว แนวต้นไผ่ อยู่ด้านหน้าทางทิศเหนือ ทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามตามธรรมชาติ

ไม้ผล ไม้โตเร็ว ไม้ยืนต้น และไม้สักอยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก ทำให้เกิดร่มเงา บ้านมีความร่มเย็น ในเวลาบ่ายและเย็น

การจัดระบบเกษตรผสมผสาน หรือการจัดการเกษตรแนวทฤษฎีใหม่ โดยการปลูกพืชหลายชนิด การเลี้ยงสัตว์ (ไก่ เป็ด วัว ควาย ฯลฯ) การประมง (เลี้ยงปลากินผัก) การทำนา การขุดสระน้ำ และเพิ่มเติมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการ “มีกิน มีใช้ เหลือขา และเกิดรายได้หลาย ๆ ทาง” สุขภาพดี มีความสุขใจ เพราะอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ และอาหารปลอดสารพิษ

การปลูกพืชหลาย ๆ ชนิด ทำให้ผลผลิต “มีกิน มีขาย” ตลอดปี พืชบางชนิด ปลูก 2 เดือน 3 เดือน ได้ “กินได้ขาย” บางชนิดประเภทไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง ขนุน มะพร้าว เงาะ ทุเรียน ฯลฯ คล้ายกับ “เงินบำนาญ” ที่เลี้ยงเจ้าของสวนตลอดชีวิตยามชรา

ในด้านการท่องเที่ยว ถ้าฤดูกาลใดขาดนักท่องเที่ยวก็ไม่ขาดรายได้ เพราะผลผลิตจากการประมง การเลี้ยงสัตว์ และการเพาะปลูก “มีกิน มีขาย” ตลอดปี ถ้านักท่องเที่ยว มาเยี่ยมเยือน ก็จะทำให้เกิดรายได้และได้รับประสบการณ์ใหม่จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ผลผลิตด้านการเกษตร ก็สามารถจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวได้รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agrotourism) ดังกล่าวแล้วสามารถเห็นตัวอย่างได้ชัดเจน จากการท่องเที่ยวฟาร์มแกะนิวซีแลนด์

ระบบการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมเก่าของชาวบ้านตั้งแต่ในอดีต ตั้งแต่สมัยระบบการผลิตแบบเลี้ยงตัวเองในสังคมศักดินา และกระทำติดต่อมาจนถึงระบบการผลิตในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ปรัชญาการผลิตเฉพาะทาง และการแบ่งงานกันทำ (Division of labour) ซึ่งเหมาะสมสำหรับนายทุนผู้ร่ำรวย มีความรู้เฉพาะทาง อาจจะไม่เหมาะสำหรับชาวบ้าน ซึ่งขาดทุนทรัพย์ด้านการเงิน ขาดความรู้วิทยาการสมัยใหม่เฉพาะทาง แต่ชาวบ้านมีทุนทรัพย์เป็นที่ดิน ความรู้และประสบการณ์จากภูมิปัญญาเดิม มีทักษะทางช่างหลาย ๆ ด้าน เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ฯลฯ และเข้าใจสภาพแวดล้อม

จุดแข็ง (Strength) ของชาวบ้านดังกล่าวแล้ว ประกอบกับโอกาส (Opportunity) ที่พระเจ้าแผ่นดินและหน่วยงานของรัฐ สนับสนุนทฤษฎีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง และการเกษตรแบบผสมผสาน และผนวกการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชาวบ้านก็จะ “อยู่ดี กินดี มีความสุข” และ “เหลือกิน เหลือใช้ แล้วแบ่งขาย”
เพราะบางครั้ง “วัว ควาย” คือ “เงินออมในธนาคาร”

ดังนั้น การอยู่ร่วมระหว่างทฤษฎีใหม่ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง กับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน จึงอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนในสังคมชาวบ้าน และโยงใยสู่โลกภายนอกได้ ด้วยความร่วมมือ จากภาครัฐ และภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ถ้ารัฐบาล ข้าราชการ และนักธุรกิจยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง เพราะปรัชญาดังกล่าวแล้ว มิใช่มีเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่มีหลักการของจริยธรรม คุณธรรม เมตตาธรรม และสามัคคีธรรม แอบแฝงอยู่ด้วย และสอดคล้องกับภูมิปัญญาและประสบการณ์เก่าของชาวบ้าน ซึ่งสร้างสมติดต่อกันมา ตั้งแต่อดีต ดังนั้น ทฤษฎีใหม่จึงเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาเดิมที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่และไม่ขัดแย้งกับแนวคิดในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะถ้ายึดความขัดแย้ง “แบบเอาแพ้เอาชนะ” ก็ไม่ใช่ปรัชญาของทฤษฎีใหม่

-----------------------------------------------------------

บรรณานุกรม

คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เอกสารแนะนำ ทฤษฎีใหม่.
ชัยอนันต์ สมุทวนิช. ทฤษฎีใหม่ : มิติที่ยิ่งใหญ่ทางความคิด. สถาบันนโยบายการศึกษา, 2541.
ชูสิทธิ์ ชูชาติ และคณะ. โครงการสำรวจที่พักประเภทเกสท์เฮาส์ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน. ทุนวิจัย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2545.
________. รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเขตลุ่มน้ำแม่แตง. ทุนวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2548.
มนูญ มุกข์ประดิษฐ์. ประทีปแห่งแผ่นดิน. ไทยประกันชีวิต จำกัด, 2535.
Goeldner, Charles R. Ritchie, Brent J.R. and McIntosh W. Tourism Principle, Practices Philosophies. 8 Ed. New York : John Wiley and Sons, Inc, 2000
http://www.tat.
Nartsupha, Chatthip and Prasartset, Suthy. The Political Economy of Siam 1851 – 1910. The Social Science Association of Thailand, 1981.

 

Reader

Followers