วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ขั้นตอนการส่งออก ตอนที่ 4

นอกจากนี้ อาจต้องขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (C/O หรือ Certificate of Origin) ตามข้อกำหนดของประเทศผู้ซื้อ

หนังสือรับรองนี้ มี 2 แบบ
แบบที่ 1 เป็นหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดทั่วไปที่ออกให้กับประเทศผู้ซื้อ เพื่อยืนยันว่าสินค้านั้นผลิตขึ้นในประเทศที่ส่งออกจริง ผู้ออกให้มี
  • กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
  • สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

แบบที่ 2 เป็นหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าที่ออกให้กับประเทศผู้ซื้อตามข้อตกลงว่าด้วยการใช้สิทธิพิเศษต่างๆ
  • สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร GSP เรียกว่า หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า Form A
  • สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ AFTA/CEPT เรียกว่า หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า FORM D
  • สิทธิประโยชน์ทางการค้า GSTP เรียกว่า หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า FORM GSTP
แบบที่ 2 นี้ จะออกโดย กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เท่านั้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า
กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
โทร. 0-2547-4815, 18 และ 19
E-mail : tpdft@mocnet.moc.go.th


เอกสารประกอบอื่นๆ ตามความต้องการของผู้ซื้อ เช่น เอกสารประกันภัย และเอกสารรับรองต่างๆ ซึ่งผู้ส่งออกส่วนใหญ่ มักใช้บริการว่าจ้างผู้แทนออกของ (Shipping) ให้ดำเนินการ ดังนั้น จึงควรแจ้งให้เขาทราบว่าต้องการเอกสารประกอบชนิดใด เพื่อเขาจะได้ปฏิบัติตามความต้องการได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ สามารถจะหาข้อมูลได้จาก L/C ที่ได้รับมา ถ้ามีเงื่อนไข อย่าละเลย ที่จะระบุเงื่อนไขลงไปในเอกสารนั้นๆ ให้ครบ

เอกสารใดที่ผู้ซื้อระบุมา แต่ไม่สามารถหาหน่วยงานใดออกให้ได้ ก็ให้ทำการตกลงกับผู้ซื้อเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะปฏิบัติการส่งมอบสินค้า

บัตรลายมือชื่อ บัตรลายมือชื่อมีไว้เพื่อประกอบการติดต่อกับกรมศุลกากรว่าด้วยการนำเข้าและส่งออกทุกเรื่อง เป็นบัตรลายมือชื่อเจ้าของ หรือผู้จัดการและผู้รับมอบอำนาจเพื่อประกอบการยื่นเอกสารในการผ่านพิธีการของกรมศุลกากร โดยยื่นคำร้องต่อฝ่ายทะเบียนผู้ส่งออกและนำเข้า สำนักเลขานุการ กรมศุลกากร หรือที่ด่านศุลกากรทั่วราชอาณาจักร

เมื่อเตรียมเอกสารประกอบการส่งออกครบแล้ว และถึงเวลาตามที่ได้สัญญากับผู้ซื้อไว้แล้ว สินค้าพร้อมแล้ว ก็ทำการผ่านพิธีศุลกากร เพื่อทำการตรวจสอบสินค้าว่าตรงกับใบกำกับสินค้า ใบรายการบรรจุหีบห่อ แหล่งกำเนิดสินค้า การชำระภาษีอากร การออกใบขนสินค้า การควบคุม การบรรจุสินค้าเข้าตู้ ขึ้นเรือ หรือขึ้นพาหนะที่ใช้ขนสินค้าส่งออก

จากนั้น นำสินค้าที่จะส่งออกส่งมอบแก่ผู้ทำการขนส่ง ซึ่งได้จองระวางไว้ล่วงหน้าแล้ว และรับใบตราส่งเมื่อส่งมอบสินค้าเรียบร้อย ใบตราส่งมี 5 ประเภทด้วยกันซึ่งขึ้นอยู่กับพาหนะที่ท่านใช้ขนส่ง เช่น
  • ใบตราส่งทางเรือ Bill of Lading (B/L)
  • ใบตราส่งทางอากาศ Airways Bill (AWB.)
  • ใบตราส่งทางรถไฟ Railways Receipt
  • ใบตราส่งทางรถบรรทุก Truck’s Receipt
  • ใบตราส่งทางไปรษณีย์ Parcel’s Receipt
ผู้ส่งออกจะต้องตรวจสอบใบตราส่งให้ละเอียดตามเงื่อนไข อย่าให้ผิดพลาดจากข้อกำหนด ก่อนนำไปยื่นขอขึ้นรับเงินกับธนาคาร เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจปล่อยสินค้าแล้วก็ถึงขั้นตอนสำคัญ คือ การเรียกเก็บและชำระเงินค่าสินค้า
เอกสารที่ต้องส่งเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อนั้นกำหนดได้จากเอกสารที่สั่งซื้อเป็นสำคัญ

เอกสารที่จำเป็น คือ
ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เป็นตราสารที่ผู้รับประโยชน์ตาม L/C หรือผู้ขายสินค้า เป็นผู้ออกตั๋วเงินเพื่อสั่งให้ผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินภายในเวลา ที่ตกลงไว้ในสัญญา

ข้อควรระวังในการส่งเอกสารให้แก่ผู้ซื้อเพื่อเป็นหลักฐานในการเตรียมตัวออกของ หรือติดตามสินค้า ต้องเป็นเอกสารที่ประทับตรา Copy Not Negotiate เพื่อ ผู้ซื้อจะได้นำไปออกของไม่ได้จนกว่าการชำระเงินตามตั๋วแลกเงินจะสมบูรณ์ ธนาคาร ผู้เป็นตัวแทนจึงจะออกเอกสารในการออกของให้แก่ผู้ซื้อ นำไปออกของเพื่อจำหน่ายต่อไปได้

และเพื่อเป็นการส่งเสริมการส่งออกอีกทางหนึ่ง กรมศุลกากรได้จัดให้มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการส่งออก โดยดำเนินการมาตรการหลักๆ ดังนี้
1. การคืนอากรวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกตามมาตรา 19 ทวิ
2. การงดเว้นการเก็บอากรสำหรับของที่นำเข้าในคลังสินค้าทัณฑ์บน
3. การชดเชยค่าภาษีอากร
4. การยกเว้น ภาษีนำเข้าสำหรับเขตอุตสาหกรรมส่งออก


ซึ่งท่านสามารถติดต่อขอรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ได้ที่
กรมศุลกากร
ถนนสุนทรโกษา คลองเตย
กรุงเทพฯ 10110
โทร. 0-2249-0431 ถึง 40
และสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่
Web Site : www.customs.go.th


จะเห็นได้ว่าธุรกิจการส่งออกสินค้าสู่ผู้ค้าในต่างประเทศนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก จนเกินความสามารถ เพียงแต่ให้ความสนใจในขั้นตอนการปฏิบัติที่สำคัญต่างๆ อย่างจริงจัง มีหูตากว้างไกล มีความจริงใจกับคู่ค้า ธุรกิจการส่งออกก็จะเป็นทางเลือกที่ดีแก่การทำธุรกิจได้ แต่ในการทำธุรกิจต่างๆ ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้นได้ ฉะนั้น เมื่อท่านมีปัญหา หรือขัดข้องสิ่งใดในการประกอบธุรกิจส่งออกท่านสามารถขอรับคำปรึกษาจาก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
กรมส่งเสริมการส่งออก
22/77 ถนนรัชดาภิเษก จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 0-2511-5066-77 ต่อ 286-288
สายด่วนผู้ส่งออก โทร. 1169
0-2512-5151
0-2511-5502
Web Site: www.depthai.go.th
www.thaitrade.com


ที่มา : จากกรมส่งเสริมการส่งออก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

Reader

Followers